skip to Main Content

พูลเถื่อน พนม สุราษฎร์ธานี

ประวัติความเป็นมา

คำขวัญตำบลพลูเถื่อน

แหล่งดินแดนลางสาดรสดี ป่ามีบัวผุด เขาวงสวยสุด ช้างป่าชุกชุม น้ำตกมากมาย ป่าเขียวชอุ่ม ดินดำน้ำชุ่ม

คนมีน้ำใจ

ประวัติความเป็นมาของชุมชน

ตำบลพลูเถื่อน แต่เดิมชื่อ “ตำบลบางพลูเถื่อน” ซึ่งมีใบพลูเป็นจำนวนมาก ใบพลูชนิดนี้ชื่อว่า”พลูเถื่อน” ลักษณะคล้าย ๆ กับใบพลูกินกับหมาก ซึ่งขึ้นอยู่ริมบาง (ห้วย) ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นตำบลพลูเถื่อน แบ่งอาณาเขตการปกครอง เป็น 5 หมู่บ้าน ดังนี้ 

หมู่ที่ 1 บ้านเบญจา มีพื้นที่รวมประมาณ 11,406.65 ไร่

หมู่ที่ 2 บ้านบางสามัคคี มีพื้นที่รวมประมาณ 3,158.22 ไร่

หมู่ที่ 3 บ้านบางโหว่ มีพื้นที่รวมประมาณ 21,184.79 ไร่

หมู่ที่ 4 บ้างห้างข้าว มีพื้นที่รวมประมาณ 37,339.23 ไร่

หมู่ที่ 5 บ้างบางลึก มีพื้นที่รวมประมาณ 67,307.11 ไร่

ขนาดและที่ตั้ง

ตำบลพลูเถื่อนตั้งอยู่ถนนสาย 4118 ตำบลพลูเถื่อน อำเภอพนม สุราษฎร์ธานี 84250 มีพื้นที่ประมาณ 224.58 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 140,363 ไร่ อาณาเขตติดต่อกับตำบลต่าง ๆ ดังนี้

        ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลคลองศกและตำบลพนม

        ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบางเหรียง อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา และอำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่

        ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลพนมและตำบลคลองชะอุ่น

        ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลคลองศกและตำบลพนม

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพตำบลพลูเถื่อน มีพื้นที่เป็นเชิงเขาและเทือกเขาซึ่งส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติ เขตอุทยานแห่งชาติและป่าสหกรณ์นิคม มีลำคลองแหกและคลองพนมเป็นแหล่งน้ำสำคัญ ทั้งนี้มีแม่น้ำสำคัญ

– คลองพนม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1

– คลองสองแพรก ตั้งอยู่หมู่ที่ 2

– คลองบางโหว่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 3

– คลองวัดธัญญาราม ตั้งอยู่หมู่ที่ 4

– คลองบางลึก (น้ำตกโตนใหญ่) ตั้งอยู่หมู่ที่ 5

ภูมิอากาศ

อากาศเป็นแบบร้อนชื้น ฝนตกชุกตลอดปี มี 3 ฤดู คือ ฤดูฝน 7 เดือน (พฤษภาคม- พฤศจิกายน) ฤดูหนาว  3 เดือน (ธันวาคม – กุมภาพันธ์) ฤดูร้อน 2 เดือน (มีนาคม – เมษายน)

ทรัพยากรธรรมชาติ

– ดิน เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะแก่การทำการเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ 

– แม่น้ำลำคลอง คลองแหก คลองพนม คลองชะอุ่น

– ป่าไม้ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าสงวนอุทยานแห่งชาติ

การคมนาคม

โดยการใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินสาย 401 สุราษฎร์ธานี – ตะกั่วป่า และถนนทางหลวง 4118

การสื่อสาร

ไปรษณีย์และการขนส่งเอกชนเคอรี่จะเข้ามาส่งจดหมายภายในหมู่บ้านมีวิทยุสื่อสารโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตขององค์การติดต่อสื่อสารระหว่างสำนักงานและหน่วยงานภายในจังหวัด 

การไฟฟ้า 

มีไฟฟ้าใช้ทั้ง 5 หมู่บ้านครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์

การประปา 

ระบบน้ำประปาภูเขา และน้ำคลองตามธรรมชาติ

โครงสร้างของชุมชน

ด้านการปกครอง

1. กำนัน ตำบลพลูเถื่อน นายสุจินต์ หวังดี

– ผู้ช่วยกำนัน นายสามารถ ชื่นพระแสง

– ผู้ช่วยกำนัน นายนพคุณ ผสมทรัพย์

– สารวัตรกำนัน นายพรหมมาศ จินดาภรณ์

– สารวัตรกำนัน นายชูศักดิ์ นาวีวงศ์

– ผรส.กำนัน นายปิยะวัฒน์ กาญจนมุสิทธิ์

2. นายอนันต์ ทับแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 หมู่บ้านเบญจา

3. นายชลธี ศรีรอดภัย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 หมู่บ้านบางสามัคคี

4. นายสมชาย เรืองอ่อน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 หมู่บ้านบางโหว่

5. นายกมล นบนอบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 หมู่บ้านบางลึก 

ด้านประชากร

หมู่บ้าน ชาย หญิง รวม บ้านรวม

หมู่ที่ 1 423 443 866 309

หมู่ที่ 2 134 117 251 76

หมู่ที่ 3 268 241 509 197

หมู่ที่ 4 354 362 716 235

หมู่ที่ 5 186 159 345 101

รวม 1,365 1,322 2,687 918

ด้านการศึกษา

มีโรงเรียนระดับประถมศึกษา จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเบญจาและโรงเรียนวัดธัญญาราม                   ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลพลูเถื่อน

ด้านศาสนา

ศาสนาสถาน มี วัด 2 แห่ง ได้แก่ วัดธัญญารามและสำนักสงฆ์บ้านเบญจา การนับถือศาสนาแบ่งเป็น 2 ศาสนา คือ ศาสนาพุทธและศาสนาอิสลาม 

โครงสร้างด้านเศรษฐกิจและอาชีพ

พืชเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ พืชผักสวนครัว รายได้เฉลี่ย ประชากรมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 20,000 บาท/เดือน/ครอบครัว 

– เกษตรกรรม ร้อยละ 93.30

– รับจ้าง ร้อยละ 5.68

– รับราชการ ร้อยละ 0.38

ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรม

ความเชื่อ = ประชาชนในตำบลพลูเถื่อนมีความเชื่อว่าเวลามีเรื่องทุกข์แล้วไปขอพรหลวงพ่อสงฆ์วัดธัญญาราม แล้วจะได้ตามที่ขอทุกอย่างเลยเป็นกลายที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน สิ่งของที่นำไปแก้บนเวลาขอพรสำหวังแล้วมี 2 สิ่ง คือ สละ กับ ปะทัด 

ประเพณี = สารทเดือนสิบ เป็นงานบุญประเพณีของคนภาคใต้ ของประเทศไทย ที่ได้รับอิทธิพลด้านความเชื่อ ซึ่งมาจากทางศาสนาพราหมณ์ โดยมีการผสมผสานกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเข้ามาในภายหลัง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ดวงวิญญาณของบรรพชนและญาติที่ล่วงลับ ซึ่งได้รับการปล่อยตัวมาจากนรก ที่ตนต้องจองจำอยู่ เนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยจะเริ่มปล่อยตัวจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 10 เพื่อมายังโลกมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์ในการมาขอส่วนบุญจากลูกหลานญาติพี่น้อง ที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ล่วงลับ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 ช่วงระยะเวลาในการประกอบพิธีกรรม ของประเพณีสารทเดือนสิบ จะมีขึ้นในวันแรม 1 ค่ำ ถึงแรม 15 ค่ำเดือนสิบของทุกปี แต่สำหรับวันที่ชาวใต้มักจะนิยมทำบุญกันมากคือ วันแรม 13-15 ค่ำ ประเพณีวันสารทเดือนสิบโดยในส่วนใหญ่แล้ว จะตรงกับเดือนกันยายน

 พิธีกรรม = พิธีไหว้สวน เป็นพิธีเก่าแก่ของชาวสวนทางภาคใต้ที่คนรุ่นหลังเริ่มจะไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว พิธีกรรมนี้ถูกถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และจัดทำให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ในปีถัดไป เพื่อแสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เจ้าที่ที่ปกปักรักษาผืนดิน เทพารักษ์ ผีสาง เทวดาที่ดูแลสวน ส่งผลให้พืชสวนออกดอกออกผลให้ชาวสวนมีรายได้หล่อเลี้ยงชีพมาจนทุกวัน โดยพิธีดังกล่าวจะจัดในช่วงเดือน 5 ตามปฏิทินจันทรคติของทุกปี ที่บ้านจะรอให้ลูกหลานกลับมาพร้อมหน้ากันและจัดพิธีไหว้สวนด้วยกัน พิธีไหว้สวน จึงสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ความเชื่อของชาวสวนที่แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ผู้ปกปักรักษาผืนดิน อีกทั้งสะท้อนความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีมาอย่างยาวนาน พิธีกรรมดังกล่าวค่อย ๆ เลือนหายไปหากลูกหลานชาวสวนไม่สืบทอด ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายหากพิธีกรรมเหล่านี้จะกลายเป็นเพียงเรื่องเล่าที่คนรุ่นหลังไม่มีโอกาสได้เห็นและสัมผัสด้วยตัวเอง

ภาพแผนที่

อินโฟกราฟิกสรุปงาน

โครงการที่ 1 (ข่าวสั้น)

เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา วิศวกรสังคม ตำบลพลูเถื่อน เเละที่ปรึกษาโครงการ นายวิทยา สังคะดี  ลงพื้นที่จัดกิจกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและส่งเสริมการตลาดด้วยสื่อดิจิทัล (เครื่องเเกงบ้านบางลึก) ภายใต้โครงการโครงการยกระดับเศรษฐกิจสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ณ บ้านบางลึก หมู่ที่ 5 ต.พลูเถื่อน อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี ได้รับเกียรติจาก นายกมล นบนอบ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 มากล่าวเปิดงาน โดยมีการสาธิตวิธีการบดเครื่องเเกง มีทั้ง เครื่องเเกงส้ม เครื่องเเกงพริก เเละเครื่องเเกงกะทิ โดยวิศวกรสังคมตำบลพลูเถื่อน ได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยการเปลี่ยน บรรจุภัณฑ์ เเละ ออกเเบบฉลากเครื่องเเกง เพื่อให้สินค้ามีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่งช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านสื่อออนไลน์  เพื่อเพิ่มยอดขาย เป็นการสร้างรายได้เเละอาชีพเสริมให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน

         สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ได้ผ่านการคัดกรองตามมาตรการ ควบคุมโรคระบาด โควิด19 อย่างเคร่งครัด เเละได้สวมหน้ากากอนมัยตลอดการจัดกิจกรรม เเละต้องขอขอบคุณ อสม.ตำบลพลูเถื่อน ที่มาคอยคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

Back To Top