skip to Main Content

กะเปอร์ กะเปอร์ ระนอง

ประวัติตำบล

ประวัติความเป็นมาของตำบลกะเปอร์เดิมเมื่อประมาณ 300 ปี มาแล้ว มีราษฎรจำนวนหนึ่งอพยพมาจากทะเลในแถบอำเภอตะกั่วป่าจังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ตเข้ามาตั้งรกรากทำไร่ ทำสวนและทำแร่ โดยครอบครัวแรกที่เข้ามา มีหัวหน้าครอบครัวเป็นหญิงหม้าย ชื่อ นาง (กะ) เปอร์ เป็นคนเชื้อสายมาเลเซียจึงสันนิษฐานได้ว่าชื่อตำบลมาจากชื่อของผู้หญิงหม้ายนางนี้ ชุมชนดั้งเดิมในกะเปอร์คือชุมชนบ้านบางปรุ ซึ่งเป็นชุมชนกลุ่มคนที่มีเชื้อสายจีนมาตั้งรกรากอยู่ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และในปี พ.ศ. 2311 มีการสร้างวัดชื่อว่าวัดปทุมธาราราม 

ตำบลกะเปอร์เดิมทีมีหมู่บ้านที่เรียกรวมกันโดยใช้ชื่อว่าหมู่บ้านบางปรุ ต่อมามีการตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ. 2462 ได้แยกเป็นหมู่ที่ 6 บ้านบางปรุเหนือและหมู่ที่ 7 บ้านบางปรุล่าง เพราะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น ชื่อบางปรุมีที่มาจากคลองบางปรุไหลผ่านเลยเรียกว่า บ้านบางปรุติดปากมาจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2490 ตั้งหมู่ที่ 3 บ้านบางลำพูซึ่งพื้นที่ของบ้านบางลำพู เป็นหมู่บ้านที่ติดกับปากคลองที่ชาวบ้านเรียกว่าทางออกสู่ทะเลและบริเวณดังกล่าวเป็นป่าชายเลนมีต้นลำพูขึ้นอยู่หนาแน่นจึงเรียกตามสภาพที่เป็นอยู่ว่าบ้านบางลำพูในปีเดียวกันมีการตั้งหมู่ที่ 4 บ้านฝ่ายท่า มาจากฟากหนึ่งของหมู่บ้านมีแม่น้ำไหลผ่านแบ่งระหว่างหมู่บ้าน คนสมัยก่อนจึงเรียกว่าคนละฝ่ายท่า 

ปี พ.ศ.2494 ได้มีการตั้งหมู่ที่ 1 บ้านด่าน ที่มาของบ้านด่านเมื่อสมัยนั้นเป็นเส้นทางระหว่างภูเก็ตถึงระนองซึ่งเป็นที่พักค้างแรมของคนเดินทางเป็นทางหน้าด่านที่บังคับเพราะทิศเหนือติดภูเขาทิศใต้เป็นทะเลทุกคนที่จะเดินทางไปภูเก็ตต้องผ่านทางหน้าด่าน และในปีเดียวกันก็ได้ตั้งหมู่ที่ 5 บ้านกงษี ซึ่งคำว่ากงษีมาจากชุมชนนั้นเป็นที่อยู่ของคนจีนที่อพยพมาทำมาหากินในท้องที่ตำบลกะเปอร์ได้มาสร้างที่พักอยู่รวมกันเรียกว่ากงษี จนกระทั่งคนจีนเหล่านั้นย้ายที่อยู่ไปแต่ชาวบ้านยังคงเรียกว่ากงษีจนถึงปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไปมีประชากรเพิ่มมากขึ้นจึงมีการตั้งหมู่บ้านเพิ่มขึ้นในปี พ. ศ. 2515 มีการตั้งหมู่ที่ 2 บ้านห้วยเสียด  คำว่าห้วยเสียดมาจากในพื้นที่หมู่ 2 มีต้นเสียดขึ้นอยู่ริมห้วยจำนวนมากชาวบ้านจึงเรียกกันจนติดปากว่าห้วยเสียดจนถึงปัจจุบัน 

ปี พ.ศ. 2539 ความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมการคมนาคม ที่มีความเจริญอย่างรวดเร็ว ทำให้มีประชากรเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวมีความจำเป็นต้องแบ่งการปกครองแยกหมู่บ้าน โดยหมู่ที่ 1 บ้านด่านแยกเป็นหมูที่ 8 บ้านชิมี คำว่าชิมีมาจากหญิงแก่แม่หม้ายบวชแก้บน ในปีเดียวกันนี้ได้มีการแบ่งหมู่ที่ 6 บ้านบางปรุเหนือเป็นหมู่ที่ 9 บ้านหินขาว คำว่าหินขาวมาจากหินในคลองในหมู่บ้านที่มีสีขาวสวยแปลกตาซึ่งในคลองแห่งนี้จะมีหินเป็นสีขาวเกือบทั้งสายจึงเรียกว่าบ้านหินขาว และได้มีการแบ่งพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านห้วยเสียดเป็นหมู่ที่ 10 บ้านคอกช้าง ซึ่งคำว่าคอกช้างมาจากในสมัยนั้นคนในชุมชนทำอาชีพลากไม้ซุง ซึ่งนำช้างมาลากไม้ซุง มีช้างเป็นจำนวนมากอยู่รวมกันเป็นคอกจึงเรียกต่อกันมาว่าบ้านคอกช้าง แต่ละหมู่บ้านในตำบลกะเปอร์มีประชาชนที่เข้ามาอยู่อาศัยมาจากหลากหลายพื้นที่หลากหลายภาษา อาชีพส่วนใหญ่จะมาทำอาชีพเกษตร สร้างสวนมีทั้งสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ มีบางส่วนที่ปลูกผักข้างบ้าน 

ตำบลกะเปอร์ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน 

หมู่ที่ 1 บ้านด่าน

หมู่ที่ 2 บ้านห้วยเสียด 

หมู่ที่ 3 บ้านบางลำพู

หมู่ที่ 4 บ้านฝ่ายท่า

หมู่ที่ 5 บ้านกงษี

หมู่ที่ 6 บ้านบางปรุเหนือ

หมู่ที่ 7 บ้านบางปรุล่าง

หมู่ที่ 8 บ้านชีมี

หมู่ที่ 9 บ้านหินขาว

หมู่ที่ 10 บ้านคอกช้าง

แผนที่

อินโฟกราฟิก

โครงการที่ 1 

สำเร็จด้วยดีกับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กับการเดินหน้าปฏิบัติการ อบรมเชิงปฏิบัติการโครงการการจัดกาความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้า OTOP และยกระดับสินค้าการเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้า OTOP พร้อมการส่งเสริมการขายสินค้า ของตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง 

        การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้น ณ ศาลาเอนกประสงค์ หมู่ที่5 ตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง โดยมีอาจารย์สมมาส เส้งสุย ดูแลโครงการ ซึ่งถือเป็นโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ควบคู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้วิทยากรจากศูนย์เรียนรู้และฝึกอาชีพจากกาบหมากตำบลราชกรูด   นางกัญแก้ว เบ่งกิจ ประธานศูนย์เรียนรู้และนางสุวรรณา สมิง ประชาสัมพันธ์ศูนย์เรียนรู้ฯมาสอนวิธีการทำภาชนะใส่ของจากผลิตภัณฑ์ชุมชน และนอกจากนี้ยังมี นายกฤติ์ฐนพัส หัสจักรและนายปรีชา หัสจักร  มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้า OTOP ให้กับประชาชนที่เข้าร่วมอบรมดังกล่าว เพื่อสร้างอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนต.กะเปอร์ต่อไป

         สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการฯในครั้งนี้ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการ ควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข อย่างเคร่งครัดอีกด้วย

โครงการที่ 2 

วันนี้ทีมวิศวกรสังคมตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์จังหวัดระนอง  หนึ่งตำบลในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

( ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย) ราชภัฏสุราษฎร์ธานี

    จัดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบลแบบบูรณาการ พัฒนาสัมมาชีพใหม่เพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน

     การเลี้ยงปูนิ่ม โดยมีนางแก้วและผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 บ้านชีมี เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และได้ลงมือปฏิบัติจริง 

โครงการที่ 3 

วันนี้ทีมวิศวกรสังคมตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์จังหวัดระนอง  หนึ่งตำบลในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

( ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย) ราชภัฏสุราษฎร์ธานี

    จัดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบลแบบบูรณาการ พัฒนาสัมมาชีพใหม่เพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน

     การทำปลาทูเค็มโดยมีนางสาววิชญาดา จันทร์หอม (พี่ดิ๋ม) เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และได้ลงมือปฏิบัติจริง 

    ผู้เข้าร่วมโครงการผ่านการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรคระบาด covid-19 อย่างเคร่งครัด

โครงการที่ 4 

วันนี้ทีมวิศวกรสังคมตำบลกะเปอร์ อำเภอกะเปอร์จังหวัดระนอง  หนึ่งตำบลในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ

( ๑ ตำบล ๑ มหาวิทยาลัย) ราชภัฏสุราษฎร์ธานี

    จัดโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบลแบบบูรณาการ พัฒนาสัมมาชีพใหม่เพิ่มรายได้หมุนเวียนให้แก่ชุมชน

     หลักสูตรพริกแกงตำมือสมุนไพร โดยมี (นางสำเนียง ลิ่มเหล็ก) เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้และได้ลงมือปฏิบัติจริง 

    ผู้เข้าร่วมโครงการผ่านการคัดกรองตามมาตรการควบคุมโรคระบาด covid-19 อย่างเคร่งครัด

Facebook Page : https://m.facebook.com/U2T

E-Book หนังสือประวัติศาสตร์ : http://anyflip.com/bookcase/bczum

Back To Top