skip to Main Content

บางโพธิ์ เมืองสุราษฎร์ สุราษฎร์ธานี

ประวัติตำบล

ประวัติความเป็นมาตำบลบางโพธิ์

               วิถีชีวิตชนบทริมสายน้ำที่ซ่อนตัวอยู่ใจกลางเมือง  เพราะแวดล้อมไปด้วยลำคลองนับร้อยสายชาวบางโพธิ์จึงมีจิตวิญญาณที่ผูกพันกับธรรมชาติและเห็นคุณค่าของวิถีความเป็นอยู่แบบดั้งเดิมที่ไม่มุ่งเน้นในวัตถุการก่อตั้งหรือแบ่งเขตการปกครองมาเป็นตำบลบางโพธิ์ในปัจจุบัน ไม่มีหลักฐานทางราชการที่บ่งบอกชัดเจน  เพียงเมื่อสืบค้นย้อนหลังถึงผู้นำในอดีตตั้งแต่สมัยโบราณเท่าที่รวบรวมได้จากเอกสารและคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่สันนิษฐานได้ว่าชุมชนตำบลบางโพธิ์เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อช่วงประมาณปี  พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๔๕๐  

                พื้นที่ตำบลบางโพธิ์ในปัจจุบัน   แรกเริ่มแต่เดิมนั้นเป็นส่วนหนึ่งของตำบลที่ชื่อว่า “ตำบลป่าเหล้า”โดยมีที่มาที่สืบค้นได้ว่าเป็นการตั้งชื่อตามความเชื่อถือของคนสมัยโบราณโดยตั้งชื่อตาม“พ่อตาเจ้าที่”  หรือที่เรียกว่า “เจ้าที่เจ้าทาง”  นั่นเอง   เพราะเชื่อว่าที่บริเวณนี้มีเจ้าที่  คือ พ่อตาเหล้า  แม่ยายสร้อย เป็นผู้ดูแล  จึงใช้ตั้งเป็นชื่อของตำบลและแจ้งต่อทางราชการ  และไม่มีข้อมูลยืนยันว่าพื้นที่ในบางมีกี่ตำบล  ตำบลอะไรบ้าง สภาพภูมิประเทศในสมัยนั้น  พื้นที่ในบางและตำบลป่าเหล้ามีลักษณะเป็นป่าดิบชื้น  มีต้นไม้นานาชนิดแต่เป็นไม้ประเภทที่งอกอยู่ในพื้นที่ซับน้ำซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นไม้เนื้ออ่อน  เช่น  ต้นลำพู ต้นจิก  ต้นไทร  ต้นยาง  ต้นรัก  ต้นโหรง  ต้นหลุมพอ  ต้นน้ำนอง  ต้นปอทะเล   ต้นลำ  ต้นเสม็ด  ต้นหลุมปัง  ต้นแสม  เป็นต้น  เมื่อต้นไม้ถูกตัดโค่นเพื่อสร้างประโยชน์เราจึงไม่พบร่องรอยของตอไม้ ราก ใบในอดีต  และยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก  ได้แก่  ตัวนิ่ม  เสือปลา  กวาง  เก้ง  หมูป่า  กระรอก   ตะกวด  นาก  ลิงหางยาว  จระเข้  เป็นต้น

      ตำบลบางโพธิ์มีกำนันคนแรก ชื่อพันบวง  พรหมเพ็ชร ได้เป็นกำนันเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (เท่าที่สืบค้นได้) การปกครองสมัยนั้นเป็นการปกครองโดยคณะกรรมการตำบล ทางราชการได้มีการแบ่งเขตพื้นที่การปกครองให้มีรูปแบบและขอบเขตของพื้นที่ ที่เหมาะสมง่ายแก่การควบคุมดูแลโดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศ  ลำคลอง  ลำบาง  เป็นแนวเขตแบ่งพื้นที่หมู่บ้านและตำบล โดยฝั่งในบางประกอบด้วยตำบลทั้งหมด ๖ ตำบล  จำนวน  ๓๑  หมู่บ้าน

                บางโพธิ์ที่ได้ชื่อบางโพธิ์นั้น เนื่องจากมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ปากบางและที่หน้าวัดโชติการาม มีเรื่องล่ำลือต่อกันมาจากในอดีตว่า ใต้ดินตรงโคนต้นมีสมบัติล้ำค่าฝั่งอยู่และยังไม่มีใครขุดพบต้องตีปัญหาลายแทงคำกลอน “บางโพธิ์มีโอ่งปากหนา ข้างตกหญ้าคา ข้างออกหญ้าขิง ใครคิดไม่ออก ไปถามรอกกับลิง จึงจะหาสมบัติเจอ” ปัจจุบันต้นโพธิ์ใหญ่ไม่มีอยู่แล้ว เพราะตลิ่งพังจมสูญหายไปเมื่อ ๕๐ – ๖๐ ปีก่อน  

                ตำบลบางโพธิ์มีกำนันคนแรกชื่อ  พันบวง   พรหมเพ็ชร   ประวัติข้อมูลของผู้นำ(กำนัน)  ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีกำนันรวมทั้งสิ้น  ๘  คนดังต่อไปนี้

                ๑.  กำนันบวง   พรมเพ็ชร (ม.๑)      ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๙ – ๒๔๘๐

        ๒.  กำนันชู   นาคทองคง  (ม.๓)   ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๘๑ – ๒๔๙๙

        ๓.  กำนันชม   ศรีประดิษฐ์  (ม.๔)   ประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๐ – ๒๕๑๗

                ๔.  กำนันประมูล   กระสินธุ์  (ม.๑)        ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๘ – ๒๕๔๐

      ๕.  กำนันเสรี   อินทร์จันทร์  (ม.๔)  ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๑ – ๒๕๔๙

      ๖.  กำนันวีระ    ชูกล่อม  (ม.๒) ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๐ – ๒๕๕๑

      ๗.  กำนันสุคนธ์   กัณหาแก้ว  (ม.๓) ประมาณปี พ.ศ.๒๕๕๒ –  ๒๕๕๓

         ๘.  กำนันคมกฤษ  ชิงโส   (ม.๑) ประมาณปีพ.ศ.๒๕๕๔–ปัจจุบัน

               โดยมีเขตการปกครองรวม  ๕  หมู่บ้าน มี ม.๑-บ้านบางขาม  ม.๒-บ้านท่าอิฐ ม.๓-บ้านคลองขวาง ม.๔-บ้านท้องทราย ม.๕-บ้านท่าพลูเถื่อน  ชาวตำบลบางโพธิ์มีทั้งคนพื้นเพดั้งเดิมและคนที่อพยพถิ่นฐานมาจากที่อื่น   เช่น  ตำบลใกล้เคียง  ได้แก่  ชาวพุนพินใต้  ชาวท่าฉาง   ชาวลีเล็ด   ชาวบางใหญ่   เป็นต้น  คนต่างจังหวัด  เช่น  ราชบุรี  นครปฐม  เป็นต้น   มีประเพณีดั้งเดิม  ได้แก่   การทำบุญเดือนสิบ  วันจบปีจบเดือน  การสวดบาง ทำขวัญข้าว   เป็นต้น   อาชีพหลักของคนตำบลบางโพธิ์   คือ  อาชีพทำสวนมะพร้าว   สวนปาล์มน้ำมัน อาชีพรองได้แก่  การทำประมงพื้นบ้าน  ประมงชายฝั่ง เลี้ยงกุ้งขาววานาไมค์  และรับจ้าง  

แผนที่

อินโฟกราฟิก

โครงการที่ 1 

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเทคโนโลยีเกษตรอินทรีย์วิถีใหม่ การปลูกผักไฮโดรโปนิกซ์แบบน้ำนิ่ง

โครงการที่ 2 

กิจกรรมต่อยอดสัมมาชีพกลุ่มสตรีแปรรูปกล้วยเพื่อการพัฒนา ผลิตภัณฑ์จักสานจากเชือกกล้วย และ ต่อยอดสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ประจำตำบล

กิจกรรม

กิจกรรม Covid week

Facebook Page  : https://www.facebook.com/BangPho01

E-Book หนังสือประวัติศาสตร์ : http://online.anyflip.com/videh/zkcg/mobile/index.html?fbclid=IwAR0OeJQDkpVXVt3XVxWQepkItE11Ase_1GaK-teSnoUavnu5X9gM4WosOpk

Back To Top