skip to Main Content

ท่าข้าม พุนพิน สุราษฎร์ธานี

ประวัติตำบล

     “ตำบลท่าข้าม” แต่ก่อนนั้นความเจริญของตลาดท่าข้าม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำตาปี มีการเข้ามาตั้งรกรากกันในยุคแรก ๆ จากนั้นผู้คนเริ่มทยอยเข้ามาปักหลักอยู่อาศัยและค้าขายมากขึ้น เช่น ขุนประกิต กาญจนเขตร (ขาบ วิชัยดิษฐ์) อดีตกำนันตำบลทุ่งกง อำเภอกาญจนดิษฐ์ นายผิน คชรักษ์ มาสร้างบ้านหลังใหญ่กว่าใครในสมัยนั้น นอกจากนี้ก็มีชาวจีนเชื้อสายไหหลำเข้ามาตั้งถิ่นฐาน เมื่อชุมชนเติบโตมากขึ้นบ้านเรือนก็เพิ่มขึ้นบนถนนดินสายแคบ ๆ 

     ปี พ.ศ.2471 นายนึก เจริญเวช ได้สร้างโรงภาพยนตร์ ขึ้นมาชื่อว่า “เจริญภิรมย์” คนทั่วไปเรียกว่า “วิกนายเรือนึก” พร้อมกับสร้างตลาดสดริมแม่น้ำตาปีใกล้กับโรงภาพยนตร์ชาวบ้าน เรียกว่า “ตลาดนายเรือ” ถือเสมือนเป็นศูนย์การค้าในสมัยนั้นก็ว่าได้ ก่อนสงคราม แหล่งบันเทิงของชาวท่าข้ามมีโรงมหรสพอยู่แห่งเดียวคือ “วิกเจริญภิรมย์” ของนายนึก เจริญเวช ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกอันเป็นชุมชนหนาแน่นเดิม เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวมุงสังกะสี ภายในแบ่งที่นั่งเป็นชั้นบนและชั้นล่าง ที่นั่งคนดูทำแบบง่ายๆ เป็นม้านั่งแถวยาวนาน ๆ ครั้ง จะมีภาพยนตร์ทั้งฝรั่งและญี่ปุ่นมาฉายแต่คนจะเรียกกันว่า “หนังญี่ปุ่น” กัน ทั้งนั้นเพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่นำภาพยนตร์เข้ามา แต่เป็นหนังเงียบ มาระยะหลังจึงมีการพากย์กัน ยามที่มีหนังเข้ามาฉาย การโฆษณาจะมีคนนั่งเรือตีกลองเป่าแตร และพับไปรอนขึ้นตามบ้านสองฝั่งแม่น้ำเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่าคืนไหนจะมีหนังมาฉาย พอหนังเริ่มฉายต้องเอาดนตรีเข้าไปในโรงเพื่อประกอบการฉาย เพราะหนังที่นำมาเป็นหนังเงียบหกมีการต่อสู้จะเชิดนิ่งเชิตกลอง ถ้าเป็นการควบม้า จะมีการเคาะกะลาเลียนเสียงม้าควบ เด็ก ๆ ที่อยากจะเข้าดูฟรีจะแย่งอาสาแบกลองยกเก้าอี้ให้เพื่อไม่ต้องเสียสตางค์  นอกจากภาพยนตร์แล้วก็ยังมี ลิเก ละคร มาแสดง แต่นาน ๆ มีสักครั้งจะแสดงกันหลายคืน ในคืนไหนมีหนังมาฉายหรือมีการแสดงหน้าวิกจะมีแม่ค้ามาขายของกันเต็ม เช่น อ้อยควั่น น้ำแข็งใส (ใช้น้ำแข็งตัดเป็นก้อนถูไปบนใบมืดลักษณะเช่นเดียวกับกบไสไม้) ผลไม้ต่าง ๆ ปลาหมึกปิ้ง ข้าวเกรียบว่าว โดยเฉพาะแม่ค้าอ้อยควั่น และแม่ค้าปลาหมึกปิ้งแต่งกายกันสวยงามมาก หน้าร้านของเธอจะเต็มไปด้วยหนุ่มๆ มากเป็นพิเศษ

     เมื่อมีการสร้างทางรถไฟสายใต้ที่ตั้งสถานีรถไฟอยู่ทางทิศตะวันออกของแม่น้ำตาปี ประมาณปี พ.ศ.2472 – 2473 ผู้คนเริ่มเข้ามาตั้งรกราก โดยมีขุนพิมลโภคากร (จำรัส พิมลศรี อดีตเสมียนตราอำเภอพุนพิน) กับนายเชย บุญชู น้องชาย นายเลื่อน บุญชูช่วย (บิดานายวิลาส บุญชูช่วย) ชักชวนกันมาปักหลักเป็นรายแรก ต่อมานายเม่ง จินาสุ่น (บิดานายเชือน จินาน) นายตี้ บูรณศิลป์ (บิดา นางนิวรรณา เหี้ยง บูรณภิวงศ์ ร้านเลิศรส) นายโชติ ประดิษฐพงศ์ (เม่งฉี แซ่ลิ้ม) บิดา นายสินธุ์ ประดิษฐ์พงศ์ ร้านประดิษฐ์พงศ์ นายสุธรรม วงศ์เจริญ (ฮุยเตง แซ่เหม่ง) บิดา นายยงยุทธ วงศ์เจริญ นางลั่น กอสุราษฎร์ (มารดา นายพิชิต กอสุราษฎร์) นายอีด รามสงค์ (บิดา นายประดับ มนูรัษฎา) ต่อมานายอีดได้ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน นายช่วย ศิริรักษ์ (บิดา นายเฟื่อง ศิริรักษ์ บุตรสาวชื่อ นางประทีป ศิริรักษ์) นายเกตุ ลออสุวรรณ (บิดา นายจรูญ ละออสุวรรณ) เข้ามาลงหลักปักฐานถือเป็นชุดบุกเบิกชุมชนใหม่ ของบ้านท่าข้ามฝั่งตะวันออก เมื่อชุมชนขยายตัวกว้างขึ้นประกอบกับที่ตั้งสถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำตาปี ทางราชการจึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพุนพินมาตั้งที่บ้านท่าข้ามใกล้สถานีรถไฟ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าข้ามเมื่อปี พ.ศ.2463 ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อกลับไปเป็นอำเภอพุนพินในปี พ.ศ. 2482 จนปัจจุบัน 

     ตลาดท่าข้ามในยุคนั้นยังคงเป็นชุมชนเล็ก ๆ สถานีรถไฟตั้งอยู่ด้านริมแม่น้ำเยื้องกับตัวอาคารสถานีปัจจุบัน ห่างจากหอสัญญาณเล็กน้อยมีโกดังเก็บสินค้าหลังสถานี ถนนมีสายเดียวเป็นถนนดินแคบๆ ตั้งต้นจากบริเวณสถานีรถไฟไปจนสุดบริเวณ (ถนนราษฎร์บำรุงซอย 3 ในปัจจุบัน) สองข้างถนนเป็นเรือนไม้สองชั้น บางละมุงกระเบื้อง บางมุงสังกะสี ส่วนที่เป็นบ้านชั้นเดียวหลังคาจะมุงด้วยจากแทบทั้งนั้น ส่วนอาหารการกินผักผลไม้ก็จะวางขายกันที่หน้าบ้านย่านที่จอแจและเป็นที่ชุมนุมจะอยู่บริเวณโรงแรมสุราษฎร์สราญรมย์ (บริเวณถนนราษฎร์บำรุงซอย1 ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นของขุนพิมลโภคากร นับได้ว่าเป็นโรงแรมหลังแรกในตลาดท่าข้าม สมัยนั้นบริเวณนี้เรียกกันว่า “หัวถนน” ห่างจากหัวถนนมาประมาณ 200เมตร จะเป็นท้ายตลาด (บริเวณถนนราษฎร์บำรุงซอย3 ปัจจุบัน) ชาวบ้านเรียกว่า “บ้านล่าง” ส่วนน้ำประปา ไฟฟ้า ยังไม่มีใช้ในตลาดยุคนั้นต้องใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด บ้านไหนมีฐานะดีหน่อยจะมีตะเกียงอิ๊ดด้าหรือตะเกียงเจ้าพายุไว้ใช้ดีดีมีฐานะทีเดียวในยุคสมัยนั้น ผู้คนอาศัยการเดินทางค้าขายโดยทางเรือแทบจะทั้งสิ้นผู้คนที่มาจากไกล เช่น หนองไทร มะลวนหรือตำบลต่าง ๆ จะนำสินค้าพืชผักมาขายกันที่นี่ นอกจากนี้ ยังมีเรือบรรทุกกะปิจากบ้านปากกะแดะ อำเภอกาญจนดิษฐ์ ส่วนใหญ่เป็นชาวไหหลำบรรทุกกะปิมาขายกันหลายลำจอดเรียงรายเป็นทิวแถว ชาวบ้านเรียกว่า “เรือเคย” นอกจากเรือขายกะปิแล้วยังมีเรือปลา เรือปู เป็นเรือขนาดกลางมีความยาวประมาณ 5 วา ลักษณะเป็นเรือฉลอมเล็ก ๆ ใช้แทนเครื่องยนต์ เวลาจะเข้าฝั่งต้องลดใบลงแล้วจึงใช้แจวขับเคลื่อน 

     ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในอดีตท่าข้ามเป็นท่าเรือริมแม่น้ำตาปีสำหรับข้ามแม่น้ำ เป็นที่ตั้งด่านชายแดนสำหรับตรวจผู้คนและเก็บภาษีอากรระหว่างเมืองไชยา กับท้องที่ลำพูนซึ่งเป็นแขวงขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปี ปัจจุบันคือ “สะพานจุลจอมเกล้า” ท่าข้ามเป็นชื่อเรียกอำเภอพุนพิน เป็นเวลา 31 ปี คือ ระหว่างปี พ.ศ.2473 – 2504

ในอดีตท่าข้ามเคยมีความสำคัญในฐานะชุมทางและจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในฐานะชุมทาง นอกจากจะเป็นท่าเรือสำหรับข้ามแม่น้ำตาปีแล้วยังเป็นสถานที่สำคัญในการเดินทางติดต่อผ่านแม่น้ำตาปี ไปว่าจะเดินทางไปทางคลองน้ำพุมดวงไปยังอำเภอคีรีรัฐนิคม อำเภอพนม อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต หรือไปตามแม่น้ำตาปี ไม่ว่าตอ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่งกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2321 หรือตอนที่พม่าตีเมืองนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ.2328 ต่างก็ใช้เส้นทางเดินทัพผ่านท่าข้ามทั้งสิ้น จึงเป็นจุดที่ทางฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งด่านตรวจและต้องกองทหารไว้กองหนึ่ง

     อำเภอพุนพิน เป็นอำเภอที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแต่อดีต โดยนักประวัติศาสตร์สันนิษฐานตามจดหมายของพ่อค้าชาวอาหรับและชาวจีนว่า ชาวอินเดียทางภาคใต้ได้มาติดต่อค้าขายกับชาวสุวรรณภูมิแห่งนี้ด้วยเรือสำเภาโดยเดินทางไปยังปากน้ำคีรีรัฐนิคม (คลองพุมดวง) และที่นั่นได้กลายเป็นเมืองและสถานที่พักสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำตาปีกับแม่น้ำคีรีรัฐนิคม (คลองพุมดวง) มาบรรจบกัน ซึ่งเมืองดังกล่าวนี้ในปัจจุบันคือ “ชุมชนเมืองพุนพิน” หลังจากมีการปฏิรูปการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการจัดตั้งอำเภอพุนพินขึ้นใน พ.ศ. ปี พ.ศ.2439 ที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลท่าข้าม แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอท่าข้าม” ในปี พ.ศ.2473 ทางราชการได้สั่งยุบอำเภอท่าโรงช้างมารวมกับอำเภอท่าข้ามด้วยจนถึงปี พ.ศ.2481 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอท่าข้ามอีกครั้งหนึ่งต่อมาในปี พ.ศ.2523 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาสร้างใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนจุลจอมเกล้า หมู่ที่ 3 บ้านบางท่าข้ามตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

เทศบาลเมืองท่าข้ามได้รับการยกฐานะจากสุขาภิบาลท่าข้าม อำเภอพุนพิน เป็นเทศบาลตำบลท่าข้าม เมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ.2529 ปรากฏตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลท่าข้าม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 103 ตอนที่ 59 วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2529 เปิดทำการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2529 โดยใช้อาคารห้องประชุมสุขาภิบาลท่าข้ามเป็นสำนักงานชั่วคราว นายนิพนธ์ บุญญภัทโร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีในขณะนั้น เป็นประธานพิธีเปิด เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2529 ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลท่าข้าม

เป็นเทศบาลเมืองท่าข้าม โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 117 ตอนที่ 119  ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2543 ลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ส่งผลให้การเลือกตั้งของเทศบาลต่อไป จะต้องเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีโดยตรง ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเทศบาล ปี พ.ศ.2496

แผนที่

อินโฟกราฟิก

โครงการที่ 1 

…วันที่ 7-8 ตุลาคม 64 (เวลา 08.30 – 16.00 น.) ทีมวิศวกรสังคม ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้จัดกิจกรรม “อบรมเชิงปฎิบัติการเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการตลาดออนไลน์ ผลิตภัณฑ์ชุมชนสินค้า OTOP” เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจในพื้นที่ตำบลท่าข้าม เข้าร่วมอบรมการออกแบบพัฒนาตราสินค้า และการตลาดออนไลน์สำหรับสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ขนมฝอยทองรังไหม ขนมทองหยิบ ขนมทองหยอด ตะกร้าสานพลาสติก และยาดมสมุนไพร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อาจารย์ปิยะบุษ ปลอดอักษร ที่มาให้ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดออนไลน์… 

    ทั้งนี้…ขอขอบคุณ ผอ.เทียรชัย นาคกลัด, รอง ผอ.เสาวณีย์ รักษ์ทอง และเจ้าหน้าที่ อสม.จากเทศบาลเมืองท่าข้าม ที่ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้…

โครงการที่

… วันที่ 13 สิงหาคม 64 (เวลา 09.00 น.) ในนามวิศวกรสังคมตำบลท่าข้าม U2T และศิษย์เก่าพุนพิน มรส. …ขอขอบคุณ พี่แพร (นางวสุ ประดิษฐพร) นายกเทศมนตรีเมืองท่าข้าม ดร.พลกฤต แสงอาวุธ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และอาจารย์อนุรัตน์ แพนสกุล กรรมการศิษย์เก่า มรส. อำเภอพุนพิน ที่ได้ร่วมปลูกต้นฟ้าทะลายโจรภายในบริเวณโรงเรียนเทศบาลเมืองท่าข้าม 2 (เจริญเวช) โดยใช้พื้นที่ 30 ตารางเมตร จำนวน 120 ต้น และพร้อมทั้ง…ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “MOU”การขับเคลื่อนศูนย์ประสานงานศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และศูนย์ประสานงานศิษย์เก่าอำเภอพุนพิน ซึ่งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวนี้ จัดทำขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือในการจัดกิจกรรมพัฒนาระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยฯ รวมถึงเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนถึงความร่วมมือในมิติของการพัฒนาขับเคลื่อนชุมชนท้องถิ่น…

กิจกรรม 1

กิจกรรม 2

… วันที่ 27 พฤษภาคม 64 (เวลา 09.00 น.)…ทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าข้าม ดำเนินการจัดกิจกรรม U2T สู้ภัย COVID (U2T COVID WEEK) เพื่อร่วมเสริมทัพเป็นกองหนุนรัฐบาลให้ชุมชน เคลียร์เชื้อร้าย สร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ชุมชน และรณรงค์เร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน โดยให้ความช่วยเหลือ แจกจ่ายน้ำยาแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เคลียร์พื้นที่ทำความสะอาด ณ วัดท่าตลิ่งชัน ตำบลท่าข้าม อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และแจกหนังสือคู่มือการป้องกันจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID -19)…

Facebook Page : https://www.facebook.com/U2T-SRU-ตำบลท่าข้าม-104441691862850/

E-Book หนังสือประวัติศาสตร์ : https://online.fliphtml5.com/pekzk/hnnt/

Back To Top