skip to Main Content

ท่าขนอน คีรีรัฐนิคม สุราษฎร์ธานี

ประวัติตำบล

1. ประวัติความเป็นมาของตำบลท่าขนอน

       ท่าขนอนเป็นด่านเก็บภาษีที่มาจากจังหวัดพังงา ตะกั่วป่า และภูเก็ต การเดินทางไปค้าขายของคนในสมัยก่อนต้องเดินทางผ่านมาทางช่องเขา แล้วจึงล่องมาตามลำคลอง ผ่านชายทะเลและริมทางรถไฟ การที่พื้นที่บริเวณนี้เป็นด่านเก็บภาษีอากร จึงเรียกตำบลนี้ว่า “ตำบลท่าขนอน” และอำเภอก็ใช้ชื่อว่าอำเภอท่าขนอน ตอนหลังเห็นว่าชื่อของอำเภอไม่ตรงกับสภาพทางภูมิศาสตร์ จึงได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอคีรีรัฐนิคม แต่ตำบลก็ยังชื่อตำบลท่าขนอนเหมือนเดิม

2. ขนาดและที่ตั้ง

       ตำบลท่าขนอนมีพื้นที่ทั้งหมด 176 ตารางกิโลเมตร (68 ตร.ไมล์) ประกอบด้วย 15 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านท่าขนอน หมู่ที่ 2 บ้านท่า หมู่ที่ 3 บ้านควน หมู่ที่ 4 บ้านหาดหึง หมู่ที่ 5 บ้านกะเปาใต้ หมู่ที่ 6 บ้านป่ายาง หมู่ที่ 7 บ้านคลองเกาะ (บางส่วน) หมู่ที่ 8 บ้านโตนยาง หมู่ที่ 9 บ้านทรายแก้ว หมู่ที่ 10 บ้านสุขสันต์ หมู่ที่ 11 บ้านทรายทอง หมู่ที่ 12 บ้านขนุนทอง หมู่ที่ 13 บ้านยวนสาว หมู่ที่ 14 บ้านคลองน้อย และหมู่ที่ 15 บ้านไทรงาม

3. ด้านการปกครอง 

       “องค์การบริหารส่วนตำบลท่าขนอน”  ได้ยกฐานะจากสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลดยพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2539 และใช้เป็นศูนย์กลาง การพัฒนาในเขตตำบลท่าขนอน มีพื้นที่ 172 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 107,500 ไร่ ระยะห่างจากตัว จังหวัดสุราษฎร์ธานี 60 กิโลเมตร

4. อาณาเขต

       ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลน้ำหัก อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

       ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลกะเปา อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

       ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลบ้านยาง อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

       ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลกะเปา อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

5. ด้านประชากร

       จำนวนประชากรในตำบลท่าขนอนทั้งหมด 8,277 คน ประกอบด้วย

       ประชากรเพศชาย 4,134 คน

       ประชากรเพศหญิง 4,143 คน

6. ลักษณะภูมิประเทศ

       สภาพภูมิประเทศของตำบลท่าขนอน พื้นที่ด้านทิศตะวันตกมีลักษณะเป็นภูเขาสูง โดยมีภูเขาที่สำคัญได้แก่ ทิวเขาแดนมุ่ย ส่วนบริเวณตอนกลางของตำบลมีลักษณะเป็นที่ราบสูงและบริเวณด้านทิศตะวันออก มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำพุมดวง ซึ่งไหลผ่านพื้นที่ด้านทิศใต้ของตำบลท่าขนอน นอกจากนี้มีคลองกะเปา ซึ่งมีต้นกำเนิดจากทิวเขาแดนมุ่ย มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก สำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินในตำบลท่าขนอน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีพื้นที่ประมาณร้อยละ 60 ของพื้นที่ตำบลได้แก่ พื้นที่บริเวณตอนกลางไปจนจรดด้านทิศตะวันออกของตำบล ส่วนพื้นที่ตั้งแต่ตอนกลางตำบลไปจนจรดด้านตะวันออกใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ในลักษณะของปาล์มน้ำมัน ยางพารา และผลไม้ สำหรับพื้นที่ชุมชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณทิศ ตะวันออกของตำบล 

แม่น้ำสำคัญ

7.ด้านเศรษฐกิจ

       การเกษตร องค์การบริหารส่วนตำบลท่าขนอน มีประชากรประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ได้แก่  การทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน นาข้าว และปลูกพืช ผลไม้ต่าง ๆ ดังนี้ (จำนวนประชากรที่สำรวจ 5,235 คน)

            – อาชีพเกษตรกรรม (ทำสวน) ร้อยละ 85 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

            – อาชีพเกษตรกรรม (ทำนา) ร้อยละ 2.04 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

            – อาชีพรับจ้าง ร้อยละ 7.32 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

            – อาชีพค้าขาย ร้อยละ 1.87 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

            – อื่น ๆ ร้อยละ 3.77 ของจำนวนประชากรทั้งหมด

8. การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมตำบลท่าขนอน

      ตำบลท่าขนอน เป็นตำบลที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของอำเภอคีรีรัฐนิคม ตั้งอยู่อยู่ริมแม่น้ำพุมดวง บนคาบสมุทรมลายูซึ่งเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอดีต วิถีชีวิตของผู้คนของตำบลท่าขนอนในอดีตจะผูกพันกับสายน้ำ ทั้งในการคมนาคม อุปโภคบริโภค และเป็นสังคมเกษตรกรรม ดังจะเห็นได้จากการสร้างบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ตลอดแนวแม่น้ำพุมดวง รวมไปถึงที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอคีรีรัฐนิคม สถานีตำรวจภูธร คีรีรัฐนิคม หรือสถานที่ราชการต่างๆ ก็จะตั้งอยู่ริมแม่น้ำพุมดวงบริเวณชุมชนตลาดเก่าอีกด้วย

แต่ด้วยพื้นที่ของตำบลท่าขนอนเป็นพื้นที่รับน้ำจากพื้นที่ทางด้านตะวันของจังหวัดสุราษฎร์ธานี คลองหลายสาขาไหลลงแม่น้ำพุมดวงทั้งหมดทำให้พื้นที่ของตำบลท่าขนอนเกิดน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง บ้านเรือน สถานที่ราชการถูกน้ำท่วมจนเกิดความเสียหาย ต่อมามีถนนตัดผ่านคือทางหลวงหมายเลข 4247 หรือถนนขุนคีรี จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของตำบลท่าขนอน เริ่มมีการย้ายสถานที่ราชการ ไปก่อสร้างที่ยังสถานที่ที่ไม่มีน้ำท่วมถึง ซึ่งก็คือที่ตั้งของศูนย์ราชการอำเภอคีรีรัฐนิคมในปัจจุบัน สังคมของตำบลท่าขนอนจะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ หากการเปลี่ยนแปลงนั้นจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป บ้านเรือนประชาชนเริ่มเคลื่อนย้ายมาอยู่ริมถนน เกิดเป็นย่านชุมชนเกิดขึ้นตลอดเขตแนวถนนและเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้น วีถีชีวิต  และวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับสายน้ำของผู้คนตำบลท่าขนอนค่อยๆลดลง

ภาพแผนที่

อินโฟกราฟิก

โครงการที่ 1 

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและส่งเสริมสัมมาชีพ 15 ครัวเรือนยากจนสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

ระหว่างวันที่ 8 – 15 ตุลาคม 2564 ณ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

       ทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน ร่วมกับอาจารย์จิราวรรณ บุญเชิด อาจารย์ที่ปรึกษาวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาและส่งเสริมสัมมาชีพ 15 ครัวเรือนยากจนสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 8 – 15 ตุลาคม 2564 โดยมีกิจกรรมย่อยทั้งหมด 8 กิจกรรม ดังนี้

       1. กิจกรรมเลี้ยงปลาดุก 

       2. กิจกรรมปลูกผักวิถีพอเพียง 

       3. กิจกรรมการเพาะเห็ดฟาง 

       4. กิจกรรมปลูกกล้วยน้ำว้า 

       5. กิจกรรมแปรรูปปลาดุก 

       6. กิจกรรมการแปรรูปผัก

       7. กิจกรรมการแปรรูปเห็ดฟาง 

       8. กิจกรรมแปรรูปกล้วยน้ำว้า 

       สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการ ควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานีอย่างเคร่งครัด

โครงการที่ 2 

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้า OTOP

ระหว่างวันที่ 30 31 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2564

ณ ศาลาอเนกประสงค์หมู่ที่ 5 บ้านกะเปาใต้ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ทีมวิศวกรสังคม ตำบลท่าขนอนได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนและสินค้า OTOP ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจ และสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้จัดกิจกรรมทั้งหมด 3 วัน ได้แก่ วันที่ 30, 31 ตุลาคม และวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณจิราวรรณ บุญเชิด อาจารย์ที่ปรึกษาทีมวิศวกรสังคม ตำบลท่าขนอน และกล่าวรายงานโดยนางสาวศลิษา ฤทธิกุล หัวหน้ากลุ่มวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน และได้เรียนเชิญคุณสุชาครีย์ คงเช้า และคุณสมยศ แทนนิล เป็นวิทยากรในการบรรยายและดำเนินการจัดกิจกรรมอบรมให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแพทย์แผนไทยพื้นบ้านและทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน

โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ศาลาหมู่ที่ 5 บ้านกะเปาใต้ ตำบลท่าขนอน อำเภอครีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการ ควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานีอย่างเคร่งครัด

โครงการที่ 3 

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2564

ณ ศาลาอเนกประสงค์หมู่ที่ 5  บ้านกะเปาใต้ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 13 – 14 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ได้จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านอุทกภัย และวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านอัคคีภัย ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณจิราวรรณ บุญเชิด อาจารย์ที่ปรึกษาทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน กล่าวรายงานโดยนางสาวศลิษา ฤทธิกุล ประธานวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน และได้เรียนเชิญคุณธีรยุทธ ขำยินดี (หัวหน้าครูฝึก) และทีมวิทยากรจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นวิทยากรในการบรรยายและสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อฝึกอบรมขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในการป้องกันและระงับอัคคีภัย และสามารถนำความรู้เบื้องต้นในการนำอุปกรณ์มาใช้ได้อย่างถูกต้อง 

โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ศาลาอเนกประสงค์หมู่ที่ 5 บ้านกะเปาใต้ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการ ควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานีอย่างเคร่งครัด

โครงการที่ 4

กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนและหนังสือเล่าเรื่องวิถีชุมชนคนท่าขนอน

ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2564 

ณ ศาลาอเนกประสงค์หมู่ที่ 1 บ้านท่าขนอน ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

ทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน ได้มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการจัดทำฐานข้อมูลชุมชนและหนังสือเล่าเรื่องวิถีชุมชนคนท่าขนอน ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 18 – 20 พฤศจิกายน 2564  ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณจิราวรรณ บุญเชิด อาจารย์ที่ปรึกษาวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน กล่าวรายงานโดยนางสาวศลิษา ฤทธิกุล ประธานวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน ซึ่งในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ได้เรียนเชิญ คุณวิชิตร จิตรสม ปราชญ์ชาวบ้าน มาบรรยายเรื่อง วิถีชุมชนคนท่าขนอน วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ได้เรียนเชิญคุณหมอวสันต์ อุ่มแสง มาบรรยายเรื่องการสอนทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร และคุณสมทบ จันทร์ปาน มาบรรยายเรื่องการทำเกษตรวิถีพอเพียง และวันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 ได้เรียนเชิญคุณวิชิตร จิตรสม บรรยายเรื่อง วิถีไกด์ชุมชน และคุณบุญนึก พิพิธ บรรยายเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลการถูกงูกัดเบื้องต้น โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนต่อไป

โดยกิจกรรมดังกล่าวได้จัดขึ้น ณ ศาลาอเนกประสงค์หมู่ที่ 1 บ้านท่าขนอน ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี 

        สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ทุกคนจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองตามมาตรการ ควบคุมโรคระบาด โควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข จ.สุราษฎร์ธานีอย่างเคร่งครัด

กิจกรรม 1

       การเข้าร่วมแข่งขัน “โครงการ U2T Hackathon เครือข่ายภาคใต้ตอนบน ประจำปี 2021”

ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

       จากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดการแข่งขันแฮกกาธอน (Hackathon) หนึ่งในกิจกรรมการพัฒนาทักษะในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ หรือ U2T ที่เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับการจ้างงานจาก อว. ทั่วประเทศกว่า 60,000 คน จาก 3,000 ตำบล มาร่วมระดมความคิดสร้างสรรค์หรือสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน โดยมหาวิทยาลัยได้ส่งทีมจากตำบลต่าง ๆ เข้าแข่งขัน ซึ่งทีมที่เข้ารอบของมหาวิทยาลัย ได้แก่ทีมวิศวกรสังคมจากตำบลท่าขนอน โดยมีอาจารย์บุษยมาศ เหมณี อาจารย์ที่ปรึกษาประจำตำบลท่าขนอนเป็นผู้ควบคุมทีม ซึ่งมีสมาชิกในทีมประกอบด้วย นางสาวศลิษา ฤทธิกุล นางสาวพนิดา อนิกร นางสาวศศิวิมล ใสยผุด นางสาวสิริพร วิชัยพล และนางสาวสุพิชชา ศรีศิริ จากโครงการ “นวัตกรรมการพัฒนาเรือนแพบกภูมิปัญญาการอยู่อาศัยในพื้นที่น้ำหลาก”

กิจกรรม 2

กิจกรรมพิเศษ U2T สู้ภัยโควิด “U2T COVID WEEK”

       ทีมวิศวกรสังคมตำบลท่าขนอน  อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ลงพื้นที่กิจกรรมพิเศษ U2T สู้ภัยโควิด “U2T COVID WEEK”  ร่วมเสริมทัพเป็นกองหนุนรัฐบาลให้ชุมชน เคลียร์เชื้อร้าย รณรงค์เร่งฉีดวัคซีน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ชุมชน และรณรงค์การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีน พร้อมทีมวิศวกรสังคมในพื้นที่ดูแลของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ทั้ง 82 ตำบล ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ณ ตำบลท่าขนอน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

Facebook Page  : https://www.facebook.com/profile.php?id=100069274188128

E-Book หนังสือประวัติศาสตร์ : https://online.pubhtml5.com/lych/dvvo/#p=1

Back To Top